วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Location

แนวคิดการใช้ที่ดินทางการเกษตรและรูปแบบการเกษตร
1 การใช้ที่ดินทางการเกษตร
สำหรับการใช้ที่ดินทางการเกษตรนั้นจะใช้แบบจำลองการใช้ที่ดินของ von Thünen เพื่ออธิบายการใช้ที่ดินทางการเกษตรในพื้นที่ โดยแบบจำลองของ von Thünen ได้อธิบายถึงทำเลที่ตั้งที่มีความสัมพันธ์กับความเข้มในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระยะห่างจากตลาดและค่าขนส่งสินค้าจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการใช้ที่ดิน ซึ่ง von Thünen ได้แบ่งเขตการใช้ที่ดินออกเป็น 6 เขตตามความเข้มของการใช้ที่ดินจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด โดยใช้เมืองเป็นศูนย์กลาง เขตที่ 1 เป็นเขตการผลิตที่ผัก ผลไม้ ที่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่มาก ผลผลิตเน่าเสียค่อนข้างง่าย จึงเป็นเขตที่อยู่ใกล้กับชุมชนเพื่อสะดวกในการดูแลและขนส่ง เขตที่ 2 เป็นเขตที่มีการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่มีน้ำหนักมากแต่มูลค่าต่ำ เช่น ไม้ท่อน ฟืน เพื่อสะดวกในการขนส่ง เขตที่ 3 เป็นเขตที่มีการปลูกพืชหมุนเวียน 6 ปี มีการใช้ที่ดินแบบเข้มปานกลาง ไม่มีการปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างเลย เขตที่ 4 เป็นเขตการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้ที่ดินที่หมุนเวียนกันไประหว่างการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ โดยที่เมื่อหยุดใช้พื้นที่เพาะปลูกแล้วจะใช้ เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์แทน มีการใช้ที่ดินไม่เข้มข้นมากนัก เขตที่ 5 เขตการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์หมุนเวียน มีการใช้ที่ดินที่ค่อนข้างจะเบาบาง โดยมีการหมุนเวียนใช้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่เพาะปลูกจะถูกพักดินไว้เพื่อนำมาเป็นพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ที่เคยเลี้ยงสัตว์จะถูกนำมาใช้ในการเพาะปลูกอีกครั้ง และเขตที่ 6 เป็นเขตของการเลี้ยงสัตว์แบบขยาย เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง (เสน่ห์ ญาณสาร, 2539; Ilbery, 1985; Singh and Dhillon, 2004; Symons, 1978)



2 รูปแบบการเกษตร
ในอดีตนั้นในการทำกิจกรรมทางการเกษตรนั้นอาศัยปัจจัยทางด้านกายภาพเป็นหลัก เนื่องจากเป้าหมายในการผลิตเพื่อใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือนและมีการแบ่งส่วนที่เหลือจากการบริโภคใช้ในการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน ให้เกษตรกรจึงไม่ต้องแบกรับภาระทางด้านการตลาด การผลิตของเกษตรกรเป็นการผลิตที่มีความหลากหลาย โดยการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกับการเพาะปลูกด้วย สัตว์ที่นิยมเลี้ยง เช่น แพะ แกะ สุกร เป็นต้น ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรจากการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ (เสน่ห์ ญาณสาร, 2539; Ilbery, 1985; Singh and Dhillon, 2004)
หลังจากการปฏิวัติเขียวแล้วกระบวนการผลิตทางการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงทั้งวัตถุประสงค์ของการผลิต และชนิดของพืชและสัตว์ โดยที่มีการมุ่งเน้นเพื่อเป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์จึงเป็นแบบเชิงเดี่ยวมากกว่าที่จะทำแบบหลากหลายเหมือนอย่างในช่วงแรก ทำให้เกษตรกรนอกจากจะพึ่งปัจจัยทางกายภาพในการผลิตแล้ว ปัจจัยอื่นๆทั้งปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยทางเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในกระบวนการผลิตอย่างมาก ทำให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตแบบเข้มทั้งด้านการลงทุน การใช้สารเคมีและยากำจัดศัตรูพืช การลงทุนเพื่อสร้างแหล่งน้ำทางการเกษตร บางส่วนนั้นต้องประสบกับปัญหาการขาดทุน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรต้องหันกลับไปประกอบกิจกรรมทางการเกษตรแบบหลากหลายเพิ่มมากขึ้นทั้งการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูก และการทำประมงน้ำจืด (Ilbery, 1985; Neef and Heidhues 2005; Singh and Dhillon, 2004) เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการผลิตทางการเกษตรทั้ง 4 ปัจจัย และเพื่อความมั่นคงในอาชีพทางการเกษตรกรรม การเลือกแนวประกอบอาชีพที่หลากหลายเป็นแนวทางหนึ่งที่ส่งผลให้อาชีพเกษตรกรมีความมั่นคงขึ้น
ในปัจจุบันนี้ระบบการเกษตรส่วนใหญ่มีอยู่ทั้ง 2 รูปแบบ คือ ระบบการเกษตรแบบยังชีพแบบเข้ม หรือระบบการเกษตรกึ่งยังชีพกึ่งการค้า และระบบการเกษตรแบบการค้า โดยระบบการเกษตรกึ่งยังชีพกึ่งการค้า ผลผลิตที่ได้นั้นจะนำมาใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือน บางส่วนจะถูกนำเอาไปขายเพื่อเป็นรายได้ของครัวเรือน การเพาะปลูกจะมีการทำทุกปีไม่มีเว้นช่วง จะปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างในช่วงที่ขาดแคลนน้ำฝนในการทำการเกษตร มีการใช้แรงงานและปุ๋ยในอัตราที่สูงต่อพื้นที่ ส่วนผลผลิตที่ได้นั้นไม่มีความแน่นอน แปรผันตามลักษณะภูมิอากาศ ซึ่งเกษตรกรได้แก้ปัญหาความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศด้วยการทำการผลิตผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้เกษตรกรยังมีการนำเอาเทคโนโลยีขนาดเล็กเข้ามาช่วยทุ่นแรงในการทำการเกษตร (Grigg, 1995; Singh and Dhillon, 2004; เสน่ห์ ญาณสาร, 2539)
ส่วนระบบการเกษตรเพื่อการค้า เป็นการทำการเกษตรที่เน้นการผลิตเฉพาะอย่าง โดยเจาะจงตามที่ตลาดมีความต้องการผลผลิตเหล่านั้น จุดประสงค์หลักของการเกษตรแบบนี้คือผลิตเพื่อขาย โดยกลไกของตลาดจะเป็นตัวกำหนดให้มีการผลิตผลผลิตออกมา เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือผลตอบแทนที่ได้รับสูงสุด (Pacione, 1986; Singh and Dhillon, 2004; Symons, 1978; วันเพ็ญ สุรฤกษ์, 2547) ในการทำการเกษตรเพื่อการค้านั้นมีการใช้พื้นที่กว้าง แต่แรงงานที่ใช้ต่ำ เนื่องจากมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่และเครื่องจักรเข้ามาช่วยทำงานแทนแรงงานคน เงินทุนที่ใช้นั้นใช้เงินทุนค่อนข้างสูง ซึ่งทุนส่วนใหญ่จะหมดไปกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตและค่าเครื่องจักร เกษตรกรต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อเน้นคุณภาพของผลผลิต ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
นอกจากนี้แล้วการผลิตทางการเกษตรยังแบ่งการผลิตออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การเพาะปลูก เป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพืชทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช การเพาะขยายพันธุ์พืช โดยใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นที่ทางการเกษตร (Grigg, 1995; Ilbery, 1985; Singh and Dhillon, 2004) ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกนั้นจะได้รับจากผลผลิตทั้งทางตรงคือส่วนของพืชที่เพาะปลูกได้แก่ ลำต้น ราก หัว ใบ ผล เมล็ด เป็นต้น และส่วนที่ได้ทำการแปรรูปแล้ว เช่น น้ำยาง แป้ง เรซิ่น เป็นต้น รูปแบบที่ 2 การเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์บกประเภท โค กระบือ สุกร ไก่ เป็ด ผลผลิตที่ได้นั้นจะได้ทั้งจากตัวสัตว์โดยตรงคือ เนื้อ ไข่ นม และผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปสัตว์ เช่น เนย ไขมัน ขนสัตว์ เป็นต้น (Pacione, 1986; Singh and Dhillon, 2004; Symons, 1978) และรูปแบบสุดท้ายคือ การทำประมงน้ำจืด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดทั้งหมด รวมทั้งสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวก กบ จระเข้ และตะพาบน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ในการเลี้ยงในเขตน้ำจืด เช่น บริเวณแม่น้ำที่ห่างจากปากแม่น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่มักจะเป็น ปลา กุ้งน้ำจืด กบ เป็นต้น ผลผลิตที่ได้นั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเนื้อ บางชนิดซากของสัตว์เหล่านั้นสามารถขายได้ เช่น หนังจระเข้ กระดูกกบ กระดองตะพาบ เป็นต้น (ประโยชน์ เตชะเพียวเลิศ, 2545; Neef and Heidhues, 2005)
นอกจากเกษตรกรจะทำการเกษตรทั้ง 3 รูปแบบแล้ว การประกอบกิจกรรมทางการเกษตรมากกว่าหนึ่งรูปแบบเป็นการทำการเกษตรที่มีความหลากหลายขึ้น โดยเกษตรกรจะเลือกกิจกรรมทางการเกษตรที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งเกษตรกรนิยมนำเอากิจกรรมที่ส่งเสริมกันมาทำด้วยกัน เช่นการเพาะปลูกกับการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์กับการประมง หรือการที่เกษตรกรทำการเกษตรทั้งสามรูปแบบทั้งการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และทำการประมงพร้อมๆกันไปด้วย (Iiyama et al., 2007; Neef and Heidhues, 2005; Singh and Dhillon, 2004) เช่น การทำไร่นาสวนผสม การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น (วันเพ็ญ สุรฤกษ์, 2547) กิจกรรมเหล่านี้สร้างความหลากหลายให้เกษตรกรในการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำการเกษตรของเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากหลายทางและหลายกิจกรรม ส่งผลให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
3 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการทำกิจกรรมทางการเกษตร
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการทำกิจกรรมทางการเกษตรประกอบไปด้วยปัจจัยทางด้านลักษณะทางกายภาพ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยทางด้านสังคม และปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งในแต่ละปัจจัยนั้นล้วนมีบทบาทในการกำหนดรูปแบบทางการเกษตรและการใช้ที่ดินทางการเกษตร
ปัจจัยทางด้านกายภาพ มีอิทธิพลโดยตรงกับรูปแบบการเกษตรและการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ประกอบด้วย 1) ลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ ความสูงต่ำของพื้นที่ ความลาดชัน ความสูง และทิศทางการไหลของน้ำ 2) ลักษณะภูมิอากาศ ได้แก่ ความชื้น แสงแดด ลม ปริมาณฝน และการระเหยของน้ำ 3) สมรรถนะของดิน ได้แก่ ปริมาณสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช ความเป็นกรด-ด่าง ความลึก แร่ธาตุในดิน ความพรุนของดิน และอุณหภูมิของดิน 4)ลักษณะทางชีวภาพ ได้แก่ ความสัมพันธ์ภายในห่วงโซ่อาหารซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ทั้งพืช จุลชีพ และแมลง และ 5) แหล่งน้ำ (วันเพ็ญ สุรฤกษ์,2538; Grigg, 1995; Ilbery, 1985; Morgan and Munton, 1971) ซึ่งในกลุ่มเกษตรในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการทำกิจกรรมทางการเกษตร เนื่องจากขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปช่วยในการจัดการ ในส่วนของประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อควบคุมปัจจัยทางด้านกายภาพ เพื่อดัดแปลงหรือปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับชนิดของพืชหรือสัตว์ที่เกษตรกรทำการผลิต
ปัจจัยทางด้านสังคม ประกอบด้วย 1) ขนาดของครัวเรือน ได้แก่การมีครัวเรือนขนาดที่เล็กลงซึ่งเกิดจากการแยกครัวเรือนออกไป ทำให้แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนน้อยลง (ปริญญา ใจเถิง, 2544) 2) ความสัมพันธ์ในชุมชน เกษตรกรจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับรูปแบบของกิจกรรมทางการเกษตรใหม่ จากการพบปะกันในชุมชน ทำให้เกษตรกรตัดสินใจได้เร็วขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการเกษตร (วิชัยชาณ นวนไหม, 2547) 3 ) การแพร่กระจายของนวัตกรรม เป็นกระบวนการที่สามารถบ่งบอกถึงความเชื่อ จิตวิทยา และพฤติกรรมของคนในแต่ละศาสนาหรือความเชื่อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสาร การร่วมกลุ่มกัน เป็นต้น และ 5) การเปลี่ยนแปลงประชากร ทั้งที่เกิดจากการภาวะการเกิด การย้ายถิ่น และภาวะการตาย ย่อมส่งผลต่อขนาดของที่ดินที่ถือครอง ปัญหาด้านแรงงานในด้านการเกษตร ซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบและการทำกิจกรรมทางการเกษตรของเกษตรกร
ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1) ที่ดินและการถือครองที่ดิน เป็นปัจจัยที่มีลักษณะเฉพาะมีปริมาณที่คงที่ ลักษณะการใช้จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่และตามปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น คุณภาพของดิน ที่ตั้ง ราคา เป็นต้น 2) แรงงาน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการผลิตเป็นอย่างมาก ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแรงงานได้แก่ ขนาดของพื้นที่ทางการเกษตร ค่าจ้างแรงงาน ความต้องการในปริมาณผลผลิต ความรู้ ความสามารถ และความชำนาญของแรงงาน แรงงานในภาคการเกษตรส่วนใหญ่นั้นมักเป็นเกษตรรายย่อย ที่มีที่ดินน้อยหรืออาจจะไม่มีที่ดินทำกินเลย ส่วนเกษตรรายย่อยนั้นมีการใช้พื้นที่ที่ไม่เข้มข้นเมื่อหมดกิจกรรมในพื้นที่ของตนเองแล้วก็มักจะไปรับจ้างเป็นแรงงานให้กับนายทุนที่มีพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ (วันเพ็ญ สุรฤกษ์, 2547;Ilbery, 1985) 3) ทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตร ปัจจัยที่สำคัญคือเงินทุน นำมาซึ่งปัจจัยการผลิตได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทำให้มีการเกิดกิจกรรมทางการเกษตรขึ้นแหล่งทุนของเกษตรกรมาจาก 4 แหล่งด้วยกันคือ แหล่งทุนของเกษตรกรเอง เงินกู้จากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง นายทุน เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร สถาบันการเงินของเอกชน และสถาบันการเงินของรัฐ 4) การประกอบกิจกรรม เป็นการนำเอาปัจจัยการผลิตทั้ง 3 มารวมกัน ได้แก่ ที่ดิน ทุน และแรงงาน ทำให้เกิดการตัดสินใจในการผลิตโดยมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด และ 5) ตลาดและการขนส่ง มีผลต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและเทคโนโลยี ซึ่งแบ่งตลาดออกเป็น 2 ระดับ คือ ตลาดท้องถิ่นทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตในขั้นต้น การแข่งขันต่ำ และตลาดต่างถิ่น เป็นตลาดในระดับที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น มีการแข่งขันในระดับที่สูง มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สมบูรณ์ สามารถกำหนดราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยพ่อค้าคนกลาง ส่วนการขนส่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับตลาด ซึ่งค่าขนส่งนั้นนำเอาไปคิดรวมกับราคาต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน
ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการผลิตเพื่อการค้า ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงทางการตลาด ดังนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม เพื่อช่วยในการลดต้นทุนทางการผลิต ได้แก่ 1) การคัดเลือกพันธุ์พืช ให้มีความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตและมีผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและตรงกับตวามต้องการของตลาด 2) การดูแลรักษา ปัจจุบันการเกษตรสมัยใหม่ต้องอาศัยการดูแลรักษาผลผลิตที่กำลังเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก การให้น้ำ การให้ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่ง และในปัจจุบันมีการนำเอาสารเคมีมาช่วยในการดูแลรักษาด้วยเช่นกัน เช่น ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี เป็นต้น (Grigg, 1995) 2) วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิต การขนส่งไปยังที่พัก โรงเรือน การบรรจุหีบห่อ การคัดขนาด การขนส่งไปยังตลาด และ 4) การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อเป็นการทุ่นแรงงานจากคน เป็นการลดต้นทุนทางการผลิตอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด
ในการศึกษาพัฒนาการของการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและรูปแบบทางการเกษตรจะใช้แนวคิดดังกล่าวนี้อธิบายถึง รูปแบบการใช้ที่ดิน ลักษณะการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน พัฒนาการของระบบในพื้นที่ ปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและรูปแบบทางการเกษตร
4. แนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร
4.1 การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร
เกษตรกรมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกษตรทั้ง 4 ปัจจัย ย่อมส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรนั้น เกษตรกรจะเลือกให้มีความเหมาะสมกับปัจจัยทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดด้วยกันประกอบด้วย
การเปลี่ยนแปลงชนิดของพืชที่ปลูก ซึ่งเกษตรกรจะเลือกพืชให้มีความเหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ความต้องการของตลาด หรือแม้แต่การขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้เกษตรกรต้องหาแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดในการดำเนินการ เกษตรกรอาจเลือกเอาพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวในระยะสั้นมาปลูกแทนการปลูกพืชระยะยาว หรือการนำเอาพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวและสามารถเก็บเกี่ยวได้ระยะยาวมาปลูกแทนพืชที่ปลูกระยะสั้น เช่นการปลูกยางพาราแทนการปลูกข้าว การปลูกพืชสวนแทนการปลูกถั่วเขียวหรือถั่วเหลือง เป็นต้น (ภาณุพงศ์ บรรเทาทุกข์, 2546; มัณฑนา ทิพย์วารีรมย์, 2545)
การเพิ่มความเข้มในการผลิต โดยการทำให้เกิดความหลากหลายทางการเกษตรขึ้นในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเป็นลดความเสี่ยง และประหยัดต้นทุนทางการผลิต อันเนื่องมาจากการขาดแรงงานทางด้านการเกษตร เกษตรกรจึงมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร เพื่อลดขั้นตอนการทำงานลง และสามารถที่จะมีรอบการผลิตเพิ่มขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งผลผลิตที่ได้นั้นมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการอีกด้วย ส่งผลทำให้เกษตรกรนอกจากลดความเสี่ยงจากปัจจัยทั้ง 4 แล้ว ยังสามารถสร้างผลกำไรจากทำการเกษตรเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน (รัชฎา โสธนะ, 2546)
การปลูกพืชเฉพาะอย่าง (Special Crops) เป็นการทำกิจกรรมทางการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของผลผลิตที่จะได้ เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้น เกษตรกรจึงปลูกพืชหรือทำกิจกรรมเชิงเดี่ยว โดยที่เกษตรกรจะต้องแบกรับความเสี่ยงของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกษตรทั้ง 4 ปัจจัย เนื่องจากเป็นการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรจะลดความเสี่ยงด้วยการเข้าไปทำการเกษตรแบบพันธะสัญญา ทำให้เกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์เป็นเชิงเดี่ยวมากขึ้น เช่น การเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อ การเลี้ยงสุกร การทำสวนยางพารา การทำไร่ชา การปลูกข้าวโพด และการทำไร่ยาสูบ เป็นต้น (Fellmann et al., 2005)
นอกจากนี้แล้วการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรยังสามารถใช้แนวทางในการเปลี่ยนแปลงพร้อมกันด้วย เช่นการเปลี่ยนชนิดของพืชหรือสัตว์ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของความเข้มในการผลิต การเพิ่มขึ้นของความเข้มในการผลิตพร้อมๆกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นต้น ซึ่งตัวเกษตรกรจะเป็นผู้ตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกษตร และผลกำไรที่เกษตรกรจะได้รับ
4.2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร
ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรจากการเกษตรแบบดั้งเดิมหรือแบบยังชีพไปเป็นการเกษตรเพื่อการค้านั้น นอกจากปัจจัยทางกายภาพที่ประกอบไปด้วยสภาพภูมิอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะของดิน ทรัพยากรและแหล่งน้ำ (วันเพ็ญ สุรฤกษ์, 2547) ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์แล้ว ปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตร ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยคือ นโยบายของภาครัฐ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และปัจจัยที่ตัวของเกษตรกรเอง (Timmer, 1990) ปัจจัย 5 ประการของ Mosher (1966) อ้างใน Arnon (1987) ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรประกอบด้วย 1) ตลาดรองรับสินค้าการเกษตรอย่างเพียงพอ 2) มีการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเพื่อให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาวะแวดล้อม และช่วยเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น 3) การมีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาการเกษตรอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจกรรมทางการเกษตร เช่น เส้นทางคมนาคม ระบบชลประทาน เป็นต้น 4) การส่งเสริมด้านการเกษตร เป็นวิธีการที่ทำให้เกษตรกรได้รับรู้ข่าวสาร มีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้ว่าหากนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในระบบการเกษตรแล้วสามารถที่จะมีตลาดรองรับสินค้าการเกษตรอย่างแน่นอน 5) ระบบการขนส่งที่เพียงพอ ทำให้การลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรสู่ตลาดมีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่มีผลผลิตที่ตกค้างก่อให้เกิดความเสียหายทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงด้วย นอกจากนี้ Kulp (1970) อ้างใน Arnon (1987) ได้แบ่งปัจจัยที่มีส่วนส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตร 3 กลุ่มประกอบด้วย 1) ความสมบูรณ์ของนวัตกรรมใหม่ 2) ราคาของผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในระดับที่สูงและ 3) ผลกำไรที่ได้รับจากการขายผลิตผลทางการเกษตรอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรนั้นนอกจากปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยที่เป็นตัวเร่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลทำให้มีการพัฒนารูปแบบการเกษตรจากระบบเพื่อการยังชีพไปเป็นระบบการเกษตรเพื่อการค้า ซึ่งประกอบด้วย
1) การสร้างเทคโนโลยีทางการเกษตรขึ้นมาใหม่ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่และลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในสภาพปัจจุบัน
2) การนำเอาความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่เข้าไปเผยแพร่กับตัวเกษตรกร ซึ่งนอกจากการเผยแพร่แล้วจะต้องทำการฝึกฝนให้กับเกษตรกร ฝึกให้ตัวเกษตรกรสร้างแนวความคิดที่จะใช้เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น
3) การเตรียมพร้อมรับกับสิ่งใหม่ ซึ่งตัวเกษตรกรต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนกระบวนการในการผลิต พร้อมรับความเสี่ยงด้านราคาและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานในการผลิตนั้นต้องมีรองรับอย่างเพียงพอทั้งระบบชลประทาน ระบบขนส่ง สาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพื่อให้ตัวเกษตรกรมีความมั่นใจต่อการเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปพร้อมๆกัน
4) การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนโดยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผน มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า การตัดสินใจจะอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น